ลุงรีย์ ชารีย์ บุญญวินิจ เกษตรกรผู้สร้าง City Farm ต้นน้ำห่วงโซ่แรกของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจุดประกายมุมมองใหม่ๆ ที่ยังประโยชน์ ต่อยอด และขยายผลเพิ่มมูลค่าให้กับวงการเกษตรกรรมเมืองไทยด้วยคุณค่าทางความคิดผ่านการลงมือทำควบคู่การสื่อสารของหนุ่มวัย 30 เจ้าของฟาร์มลุงรีย์ (Uncle Ree’s Farm) และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Thailand Young Farmers
ลุงรีย์ และ คุณนัท กิตติพงศ์ กีรติเตชะนันท์ หรือ Mushroom Man ผู้ผลิตนวัตกรรมการเพาะเห็ดมิลค์กี้จากฟางข้าว ต่อยอดผลผลิตจากมูลไส้เดือน เปิดฟาร์มลุงรีย์ในซอยเพชรเกษม 46 ให้ได้พูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง ลุงรีย์เล่าถึงความเป็นไปของฟาร์มลุงรีย์ให้ฟังว่า ที่นี่เป็นโต๊ะทำงานขนาดใหญ่ที่เปิดกว้างในเรื่องของการเกษตรด้วยการนำ Simple Technology มาตีความแบบเอเชียและเชื่อมโยงเพื่อสร้างความเป็นท้องถิ่น เป็นต้นแบบสำหรับผู้สนใจและลูกค้าที่สามารถแวะเวียนมาเรียนรู้เรื่องความคุ้มค่าจากการใช้ธรรมชาติให้น้อยที่สุดกันที่ฟาร์มเล็กๆ แห่งนี้ นอกจากการเปิดอบรมการเลี้ยงไส้เดือนแล้ว ยังมีซับเซตที่เรียกว่า Uncle and Friend กลุ่มเกษตรกรที่เกื้อกูลกันด้านการผลิตผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ อีกด้วย
เมื่อถามเรื่องการสร้างวัตถุดิบท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น การปลูกเห็ดซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราลงมือทำแล้วสามารถเชื่อมโยงกับตลาดโลกได้อย่างเห็นภาพ เห็ดที่ปลูกคนภาคกลางรู้จักในนาม เห็ดตับเต่าขาว คนอีสานเรียกว่าเห็ดตีนแรด หรือเชิงการตลาดเรียกเห็ดมิลค์กี้ แต่หากดูตามขนาดเพื่อให้น่าสนใจจะเรียกว่าเห็ดหิมาลัย ซึ่งทั้งหมดเป็นเห็ดชนิดเดียวกันสามารถเติบโตตามธรรมชาติเหมาะกับสภาพแวดล้อมและอากาศร้อนชื้นของกรุงเทพฯ โดยไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ก้อนเห็ดทำจากฟางข้าว ต้นทุนต่ำ หาง่าย มีสารอาหารเยอะ ดังนั้นการที่เราเลือกเห็ดชนิดนี้เพื่อสร้างฐานทัพการผลิตในเมืองหลวง วิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังร่วมกับผู้ใช้วัตถุดิบซึ่งก็คือเชฟ เพื่อต่อยอดให้ส่วนต่างๆ ของเห็ดมีรสชาติและสัมผัสที่เหมาะกับเมนูหลากหลายและกระจายส่งไปสู่เชฟตามร้านอาหารต่างๆ ที่เข้าใจและเห็นคุณค่าในวัตถุดิบของเรา ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น
ด้วยราคาเห็ด 700 บาท ต่อ 1 กิโลกรัมซึ่งตอนนี้ใน 1 เดือน สามารถผลิตได้ประมาณ 150 กิโลกรัม โดยกำลังต่อยอดการพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณและขยายเครือข่ายการปลูกเห็ด ส่วนเรื่องการตลาดไม่มีอะไรต้องกังวลเพราะมีตลาดรองรับชัดเจน ลุงรีย์และคุณนัทได้เปลี่ยนความคิดเรื่องผลผลิตทางการเกษตรราคาถูก ให้เป็นทำน้อยแต่ได้มาก ด้วยการควบคุมและยกระดับคุณภาพของผลผลิตให้มีไดมิเตอร์หรือเส้นผ่านศูนย์กลางของเห็ดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ตลาดยอมรับ
เชฟสามารถนำเห็ดไปอบไล่ความชื้นเพียง 20 นาทีเท่านั้นก่อนนำไปปรุง เป็นการช่วยลดทอนระยะเวลาการอบไล่ความชื้นปกติที่ต้องใช้เวลามากถึง 6 ชั่วโมง
เพราะไดมิเตอร์ที่ต่างกัน การควบคุมปัจจัยย่อมแตกต่างกัน และขนาดไดมิเตอร์ ก้าน ดอก ความหนา ที่ต่างกันก็เหมาะสำหรับกรรมวิธีการปรุงเมนูที่ต่างกันออกไป โดยไม่มีการรดน้ำเห็ดเลยเพื่อให้เห็ดมีความชื้นน้อยที่สุด มีรสชาติดี และเก็บรักษาได้นาน ซึ่งต่างจากเห็ดที่ปลูกทั่วไป เมื่อเชฟซื้อเห็ดจากเราไปปรุงอาหาร เชฟสามารถนำเห็ดไปอบไล่ความชื้นเพียง 20 นาทีเท่านั้นก่อนนำไปปรุง เป็นการช่วยลดทอนระยะเวลาการอบไล่ความชื้นปกติที่ต้องใช้เวลามากถึง 6 ชั่วโมง ในเชิงความสำคัญผมแบ่งเป็น 2 หมวด ก่อนอื่นคือต้องแก้ความเข้าใจผิดเรื่องเห็ดไม่จำเป็นต้องนำไปล้างน้ำก่อนปรุงอาหาร และในฐานะผู้ผลิตต้นทางก็สามารถอำนวยความสะดวกให้กับเชฟได้ทั้งเรื่องเวลาและคุณภาพ
ลุงรีย์มองว่าปัญหาของเกษตรกรบางส่วนมักติดบ่วงของการทำทุกห่วงโซ่ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ได้ประเมินความถนัด สุดท้ายก็ทำไม่ได้จริงและส่งผลให้ซัพพลายเชนเปลี่ยน
ฟาร์มลุงรีย์มองที่คุณภาพและความพอใจของผู้มาเยี่ยมชมและลูกค้าเป็นหลัก บทบาทของลุงรีย์คือ การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงไส้เดือนกำจัดขยะอินทรีย์ เมื่อได้มูลไส้เดือนก็นำมาแบ่งปันกับคุณนัทหรือเพื่อนเกษตรกรรายอื่น โดยที่ไม่จำเป็นต้องปลูกเห็ดเหมือนคุณนัท เพียงแค่สร้างชั่วโมงบินในสิ่งที่ตนเองถนัด ก็สามารถยังประโยชน์และขยายผลได้อย่างเกื้อกูลกัน อีกทั้งยังเป็นโมเดลที่จะขยับไปสู่แพลทฟอร์มอื่นๆ ทั้งนามธรรมและรูปธรรม อีกพัฒนาการที่เห็นได้ในปัจจุบันคือ เชฟหันมาพูดถึงและให้เกียรติเกษตรกร ขณะที่ตัวเกษตรกรเองก็มีศักยภาพและมีผลผลิตที่น่าภูมิใจซึ่งเชฟให้การยอมรับ ซึ่งเป็นการส่งเสริมกันที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรรายอื่นได้เห็นและพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อก้าวไปสู่จุดที่ต้องการ
ส่วน Thailand Young Farmers นั้นลุงรีย์ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ด้วยคล้ายๆ ศูนย์อย่างไม่เป็นทางการ ประกอบไปด้วย พาร์ทเนอร์ผู้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีมาตรฐานและแนวคิดน่าสนใจจากสายงานต่างๆ ทั่วประเทศ โดยไม่ได้รับสมัคร แต่มาจากการมองเห็นถึงเจตนารมณ์และฝีมือของเกษตรกรเหล่านั้นอย่างแท้จริงหรือเป็นคนที่ใช่และตรงกับเงื่อนไขของ Thailand Young Farmers เชิญมารวมตัวกันเพื่อผนึกพลังและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวคิดซึ่งกันและกัน โดยมีดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีอิสระต่อกัน ร่วมมือกันเป็นบางงานตามความจำเป็น ตลอดจนมีการชี้แนะเพื่อให้เกษตรกรได้นำไปปรับปรุงฟาร์มให้มีมาตรฐานฟาร์มเปิดของเอกชนที่แข็งแกร่ง โดยมีองค์ประกอบเรื่องงานดีไซน์ กระบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ และการเป็นฟาร์มเปิด
อีกเรื่องที่ลุงรีย์เปิดมุมมองก็คือ การชูคุณค่าของวัตถุดิบท้องถิ่น ต้องเริ่มจากความเข้าใจก่อน เมื่อเข้าใจก็จะสามารถดึงคุณค่าออกมาสร้างมูลค่าได้อย่างตอบโจทย์ เพราะเรื่องของท้องถิ่นนั้นมีความสำคัญทั้งเชิงสังคม ความหลากหลาย โดยเฉพาะป่าที่มีความหลากหลายเยอะมาก แต่ถูกให้ค่าและนำประโยชน์ออกมานำเสนอน้อยมาก
ลุงรีย์ได้ให้มุมมองว่า ทุกคนรู้ว่าป่ามีคุณค่า แต่ยังไม่มีใครทำให้คนปลูกป่าเชิงพาณิชย์ได้ ถ้าชีวิตนี้ลุงรีย์สามารถสร้างกระแสให้คนปลูกป่าเชิงพาณิชย์ได้ คงเป็นความหวังสูงสุด เพราะการที่จะทำเรื่องวัตถุดิบท้องถิ่นในสเกลที่ใหญ่กว่านี้ ธรรมชาติมากกว่านี้ เราต้องเน้นป่า การสร้างคุณค่ามันต้องเป็นอะไรที่ลึก ใช้ความสำคัญของอุณหภูมิเส้นศูนย์ให้เกิดประโยชน์ ต้องพัฒนาให้เกินจุดเริ่มต้นด้วยการบริหารจัดการป่า แต่ปัจจุบันเราไม่มีป่าให้พัฒนาเพราะคนขยับออกมาจากป่าเรื่อยๆ เราทำลายป่าเพื่อสร้างเมือง แต่ด้วยองค์ความรู้และวิวัฒนาการตอนนี้เอื้อให้เราสามารถอยู่กับป่าได้อย่างมีการจัดการและเรียนรู้เรื่องป่าแค่เฉพาะในท้องถิ่นของเรากันอย่างไม่จบสิ้น เป็นเรื่องของเราทุกคนที่ต้องช่วยกันทำให้ป่ามีคุณค่าเชิงธุรกิจ แล้วคนจะแห่กันปลูกป่า การปลูกป่าไม่เคยไม่ดี ได้ประโยชน์มหาศาลทั้งไม้ อากาศ ของกิน ธรรมชาติ และความเป็นท้องถิ่น
บทสรุปท้าย…ความมุ่งมั่นของลุงรีย์และกลุ่มเกษตรกร Thailand Young Farmer จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตรชุมชน ที่สามารถร่วมมือกับธุรกิจร้านอาหารที่มีอยู่มากมายพัฒนาวัตถุดิบการเกษตรที่มีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ โดยเกษตรกรไม่จำเป็นต้องขายผลผลิตเข้าสู่อุตสหกรรมขนาดใหญ่ หรือกลุ่มพ่อค้าคนกลางแต่เพียงอย่างเดียว แนวคิด “ทำน้อยได้มาก” น่าจะเป็นคีย์เวิดร์ที่สำคัญในการเปลี่ยนให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้ในเวลาอันใกล้
- ที่อยู่: 19 ซอยเพชรเกษม 46 แยก 11 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160
- โทร: 061 414 5242
- FB: unclereefarm
- FB: thailandyoungfarmers
ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจอาหาร ที่นำเสนอเรื่องราวของธุรกิจ ตลอดจนมุมมองธุรกิจจากเชฟและเจ้าของธุรกิจที่น่าสนใจ