Black Canyon ร้านกาแฟไทยสู่ร้านอาหารอาเซียน

Black Canyon เป็นร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย และเป็นแบรนด์ท้องถิ่นที่แข็งแกร่งที่สุดของประเทศ ชื่อเสียงของแบล็คแคนยอน ได้มาจากการเสิร์ฟกาแฟคุณภาพสูง ที่มีกลิ่นและรสชาติที่ดีเยี่ยม เพราะใช้เมล็ดกาแฟสดจากแหล่งเพาะปลูกที่ดีที่สุดของโลก

Black Canyon เป็นร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย และเป็นแบรนด์ท้องถิ่นที่แข็งแกร่งที่สุดของประเทศ ชื่อเสียงของแบล็คแคนยอน ได้มาจากการเสิร์ฟกาแฟคุณภาพสูง ที่มีกลิ่นและรสชาติที่ดีเยี่ยม เพราะใช้เมล็ดกาแฟสดจากแหล่งเพาะปลูกที่ดีที่สุดของโลก รวมถึงเมล็ดกาแฟอราบิก้าเกรดดีสุดที่ปลูกโดยชาวเขาในภาคเหนือของประเทศไทย ภายใต้โครงการหลวง” นี่คือหัวใจสำคัญของธุรกิจกาแฟ ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้แบล็คแคนยอนก้าวสู่อาเซียนแบบก้าวกระโดด TRN จึงขอนัดบอสใหญ่ คุณประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด นายใหญ่จากแบล็คแคนยอน พูดคุยมุมมองเวทีการค้า “ครัวไทยสู่อาเซียน” มีโอกาสหรือไม่ ?อย่างไร? เพื่อเป็นวิทยาทานให้น้องๆ SMEs ที่สนใจทำธุรกิจในอาเซียน

รู้จักแบล็คแคนยอน

คุณประวิทย์ จิตนราพงศ์
คุณประวิทย์ จิตนราพงศ์

แบล็คแคนยอน ก่อตั้งขึ้นโดย บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปลายปี พ.ศ. 2536 เพื่อให้บริการกาแฟคุณภาพสูง และอาหารนานาชนิด โดยมีการขยายสาขาทั้งในรูปแบบที่บริษัทฯ บริหารเอง และร้านแฟรนไชส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนกล่าวได้ว่า“แบล็คแคนยอน” เป็นธุรกิจคนไทยรายแรกที่บุกเบิกธุรกิจร้านกาแฟ จนกลายเป็นตำนานและผู้นำของธุรกิจนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ เมนูกาแฟ ซึ่งในแต่ละปี “แบล็คแคนยอน” เสิร์ฟกาแฟหลายล้านถ้วยให้ลูกค้าชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ลิ้มรสของกาแฟเข้มข้นและหอมกรุ่น ด้วยความเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนการผลิต และการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด ทำให้ “แบล็คแคนยอน” สามารถครองใจลูกค้าได้จนถึงทุกวันนี้ 
กาแฟ “แบล็คแคนยอน” เริ่มต้นจากการคัดสรรและเลือกใช้กาแฟคุณภาพสูงจากโครงการหลวงถึง 70% ในขณะที่อีก 30% เป็นกาแฟที่นำเข้าจากแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงของโลก ผ่านกระบวนการคั่วกาแฟ โดยเครื่องจักรที่ทันสมัยจากโรงงานคั่วกาแฟของ “แบล็คแคนยอน”ภายใต้การควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้เชี่ยวชาญ โรงงานคั่วกาแฟของ  “แบล็คแคนยอน” ได้รับมาตรฐาน GMP เพื่อรักษากลิ่น สี รสชาติ และความสดใหม่ตามมาตรฐานที่กำหนด

จำนวนสาขาในไทยและกลุ่มอาเซียน

สาขาในประเทศไทยตอนนี้มีทั้งหมด 275 สาขา ต่างประเทศมีทั้งหมด 51 สาขา แบ่งเป็น อินโดนีเซีย 26 สาขา สิงคโปร์ 1 สาขา มาเลเซีย 17 สาขา กัมพูชา 3 สาขา ลาว 2 สาขา ฟิลิปปินส์ 2 สาขา พม่า 1 สาขา ที่พม่าหมดสัญญาและไม่ได้ต่อแฟรนไชส์เพราะว่าปีนี้เราคาดว่าจะไปเปิดเพิ่มในพม่า 2 สาขาและจะมีนักธุรกิจกลุ่มใหม่เข้ามา เราใช้ระบบแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ที่กัมพูชาเป็นแฟรนไชส์ 1 อีก 2 สาขา เราไปเปิดเองอยู่ในสถานีปั๊มน้ำมันของ ปตท. และอีออน เป็นการทดลองรูปแบบที่แบล็คแคนยอนจะไปเปิดสาขาเองในต่างประเทศเลยเลือกที่ประเทศกัมพูชาเป็นต้นแบบเพราะเป็นพื้นที่ใกล้เคียง การควบคุมและตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น

ก๋วยเตี๋ยวผัดไทกุ้งสด
ก๋วยเตี๋ยวผัดไทกุ้งสด

ย้อนกลับไปนโยบายขยายตลาดต่างประเทศประมาณ 10 ปีที่แล้ว เปิดที่ประเทศสิงคโปร์ และตามด้วยพม่า อินโดนีเซีย โดยมีความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในโครงการ ครัวไทยสู่โลก รัฐบาลสนับสนุนให้ธุรกิจร้านอาหารไทยมีการขายแฟรนไชส์หรือการขยายสาขาไปต่างประเทศ เป็นช่วงที่แบล็คแคนยอนลองผิดลองถูก ซึ่งโครงการ “ครัวไทยสู่โลก” ในขณะนั้น ภาครัฐสนับสนุน คือ พาบรรดานักธุรกิจไทยเดินสาย ออกบูธร่วมงานแฟรนไชส์การช่วยเหลือมีหลายกรณี เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน อาทิ การหาคู่ค้า ออกค่าพื้นที่ ช่วยในแง่การขนส่งหรือผลิตภัณฑ์ ทำให้เรามีโอกาสได้พบทูตประจำประเทศนั้นๆ หรือเชิญคู่ค้าที่มีความสนใจธุรกิจ พาเราไปดูตลาด เศรษฐกิจของเขา แต่จุดอ่อนของนักธุรกิจไทยระดับ SME ระดับกลาง คือเรายังไม่ค่อยเก่งในการค้าขายในต่างประเทศ เป็นข้อที่เปรียบเทียบกับสิงคโปร์ มาเลเซีย เขาจะได้เปรียบมากกว่า

เราใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี หลายเรื่องเกิดจากการเรียนรู้ เราต้องแก้ไขและให้ผู้เชี่ยวชาญในเฉพาะด้านมาช่วยเสริมในการจัดทำคู่มือให้ละเอียดมากขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย เพื่อให้เกิดระบบ สะดวกต่อการบริหารจัดการ ที่สำคัญต้องได้คุณภาพที่สม่ำเสมอ

เปิดตลาดต่างประเทศเรียนรู้จากลูกค้า-คู่ค้า

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่เราเลือกไป เมนูอาหารไม่ค่อยปรับ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือค่าเช่าแพงมากทำให้ทำมาค้าขายลำบาก ต้องมีการย้ายสถานที่ถึง 3 ครั้ง ซึ่งครั้งที่3 ลงตัวและอยู่ได้นาน เราไปอยู่ในเมืองไอทีของเขาที่รองรับคนทำงาน ราคาของเราในสิงคโปร์จะสูงขึ้น 30-40% เนื่องจากค่าครองชีพ ค่าแรง ค่าเช่าพื้นที่ เรายอมรับว่าเวลาไปเปิดร้านอาหารแข่งขันสูงมากและลำบาก ซึ่งทำให้เราคิดว่าเวลาไปทุ่มทรัพยากรในสิงคโปร์น่าจะไปประเทศอื่นดีกว่า เช่น อินโดนีเซียหรือมาเลเซีย เรามองปัญหาหลัก คือค่าเช่าพื้นที่กับแรงงานที่สูงมาก เป็นอุปสรรคในการขยายตัวที่สิงคโปร์

วิธีเลือกคู่ค้าสไตล์แบล็คแคนยอน

วิธีการเลือกคู่ค้าแฟรนไชส์ในต่างประเทศมีปัจจัยต่างๆ เช่น เราอาจไม่รู้จักคู่ค้าดีพอ เราต้องเดินทางไปดูศักยภาพการลงทุนและธุรกิจเค้า พร้อมๆกับการศึกษาเรื่องกฎหมายการลงทุน กฎระเบียบ แรกๆเราเอง ยังไม่มีความชำนาญเชี่ยวชาญพอ ไม่มีความพร้อมเรื่องบุคลากร ช่วงต้นยอมรับว่าวุ่นวายเพราะประสบการณ์ยังน้อย และการสื่อสารในต่างประเทศ คู่มือแมนนวลยังไม่ละเอียดเพราะส่วนใหญ่เป็นภาษาไทยและนำไปแปล บางครั้งต้องนำไปแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบในแต่ละประเทศนั้นๆ ต้องอาศัยเวลาที่จะทำให้สมบูรณ์มากขึ้น

กาแฟแบล็คแคนยอน
กาแฟแบล็คแคนยอน

สำหรับประเทศมาเลเซียเราค่อนข้างโชคดีเพราะไปเจอคู่ค้าที่เขาทำธุรกิจร้านอาหาร และเคยมาทำงานในเมืองไทยหลายปีจะเข้าใจเรื่องของการทำธุรกิจและเป็นนักบริหารมีความมุ่งมั่น ส่วนอินโดนีเซีย เป็นกลุ่มนักธุรกิจที่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องภูมิประเทศ การนำเข้าสินค้า วัตถุดิบจากบ้านเราต้องผ่านไปสิงคโปร์จะตั้งนายหน้าทำให้การกระจายสินค้าเร็วขึ้น กลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันในแง่ทฤษฎีเราพยายามคุยกันว่าให้เปิดเสรีทางการค้ามากขึ้นแต่ในทางปฏิบัติก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แต่ละประเทศพยายามจะคุ้มครองธุรกิจของตนเอง

ในประเทศเพื่อนบ้านมองผลิตภัณฑ์ของไทยว่าที่ดีมีคุณภาพ เพราะเวลาเราไปอินโดนีเซียจะเห็นว่าร้านค้าต่างๆ ร้านผลไม้จะอ้างอิงว่า Bangkok Fruit จะขายได้ เรื่องแบรนด์ประเทศไทยผมว่าใช้ได้ เพราะ

  1. อาหารไทยเป็นอาหารยอดนิยม เพราะว่าเราไปดูในภูมิภาคต่างๆ อาหารของเขารสชาติไม่ค่อยหลากหลายเหมือนประเทศไทย
  2. อาหารไทยมีชื่อเสียงมานาน เป็นที่รู้จักในประเทศอาเซียนเป็นอย่างดี
  3. อินโดนีเซียเรื่องวัฒนธรรมการบริโภคของเขาค่อนข้างเปิดกว้างแม้จะมีชาวมุสลิมเยอะ แต่ถ้าเราทำอาหารให้เป็นฮาลาลหน่อยให้มีรสชาติแตกต่างออกไป เขาจะยอมรับ และพฤติกรรมรุ่นใหม่ของคนอินโดนีเซียเขาก็บริโภคอาหารนอกบ้านจะนั่งสังสรรค์ดื่มชาดื่มกาแฟมากขึ้น และ 7-8 ปีหลัง รัฐบาลของอินโดนีเซียมีความมั่นคงมากขึ้น เศรษฐกิจมีอัตราที่เจริญเติบโตอันดับต้นๆ ของประเทศอาเซียน สิ่งที่สำคัญที่สุดคงเป็นปัญหาเรื่อง โลจิสติกส์ [Logistic] เพราะมีเกาะเล็กเกาะน้อย สำหรับตัวเองมองว่ามีโอกาสขยายสาขาเพิ่มขึ้น

เคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ผมมองว่า บางครั้งคนเราถ้ามีแค่ความตั้งใจอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องนำเรื่องการบริหารจัดการเข้ามาช่วย ในการหาทำเล หาบริกรที่เหมาะสม การทำงานที่เป็นทีมเวิร์ค เป็นส่วนผสมที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

ครัวไทยสู่โลกก้าวไกล.. ครัวไทยสู่อาเซียนก้าวหน้า

นโยบายของภาครัฐบางทีก็เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของผู้นำประเทศในขณะนั้น ความเอาจริงเอาจังมีความเข้มข้นแตกต่างกันไป ผมมองว่าธุรกิจที่เป็นร้านอาหารหรือเครื่องดื่มยังมีโอกาสอีกเยอะ เพราะคนทุกประเทศต้องทาน พฤติกรรมการทานข้าวนอกบ้านก็มีทุกประเทศ แต่ความถี่อาจจะแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเรื่องอาหารของประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมาก เอกชนเองเห็นความตั้งใจของ รัฐบาลที่อยากสนับสนุน แต่อยากสะท้อนให้ฟังว่ารัฐบาลควรจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา เพื่อให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต้องติดตามผลงานประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายหลากหลายอยู่แล้วทั้ง การอบรม การพานักธุรกิจไทยไปยังต่างประเทศ

มักกะโรนีต้มยำกุ้ง
มักกะโรนีต้มยำกุ้ง

แต่สิ่งที่เจอคือนักธุรกิจไทยระดับ SME s ความพร้อมยังไม่ 100% พาไปดูงานทำได้แต่กลับมาไม่รู้จะทำไงต่อ ภาครัฐไม่มีหน่วยงานที่เป็นพี่เลี้ยงหรือเป็นโค้ช ตรงนี้เป็นช่องว่างจึงจำเป็นต้องหา SMEs รายที่มีศักยภาพจริงๆ มาเป็นพี่เลี้ยง 1-2 ปี พัฒนาระบบคู่มือ [ Manual ]พาไปจับคู่ค้าจริงๆ เลือกมา 5-10 แบรนด์ ทุ่มให้กับตรงนี้ถ้าทำได้ตามแนวนี้น่าจะช่วยผู้ประกอบการให้ เข้าถึงโอกาสได้มากขึ้นและเกิดความยั่งยืนมุมมองอาหารไทย มาถึงวันนี้ยังเป็นอาหารยอดฮิตและมีความต้องการอีกมากในต่างแดน ทุกประเทศในโลกต้องมีร้านอาหารไทยซ่อนอยู่ รัฐเองมีนโยบายสนับสนุนให้มีการใช้“Thai Select” อย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่จะได้รับประทานอาหารไทยที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ตั้งสูตรมาตรฐานในการทำอาหารต่างๆ เป็นข้อดีที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

การเข้าสู่ AEC ธุรกิจบริการร้านอาหารได้ประโยชน์อย่างไร?

ถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเชนหรือมีความพร้อมจะได้ประโยชน์แน่นอน มีความพร้อมที่จะลงทุน บุคลากร ระบบงาน อย่างแบรนด์เนมต่างชาติที่เข้ามาที่เรารู้จักก็ประสบความสำเร็จก็มี แต่ถ้าเป็นระดับกลางหรือ SME ยังมองว่าไม่ง่ายในการที่จะเข้าไปสู่กลุ่มประเทศอาเซียน ผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดเวลาไปต่างประเทศ ก่อนไปต้องทำตัวเองให้เข้มแข็ง และทุกก้าวที่ย่างออกไปต่างประเทศไม่ได้ง่าย เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง อย่างแรก Sเรื่องสังคมกับวัฒนธรรม T เทคโนโลยี E เศรษฐกิจประเทศนั้นๆ น่าลงทุนมากน้อยเพียงใดP ความมั่นคงเรื่องการเมือง และ E สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญนักธุรกิจไทยต้องเป็นนักเดินทางลงสำรวจพื้นที่เป้าหมายไปแบ็คแพ็คออกไปดูต่างประเทศเยอะๆ ออกไปลุยพื้นที่ให้เห็นจริงสัมผัสจริง อย่างไรก็ตามเมื่อเราต้องเข้าสู่ AEC ก็ต้องเตรียมรุกและรับ ประโยชน์ที่เห็นชัดคือ ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปจัดตั้งกิจการให้บริการ ตลอดจนทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนสะดวกมากขึ้น อย่างภาคบริการ ที่มีศักยภาพ ได้แก่ การท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ร้านอาหาร ภัตตาคาร แบล็คแคนยอนเองปีนี้ก็เตรียมรุกอาเซียนเพิ่มด้วยเช่นกัน

มาตราฐานฮาลาลของอาหารไทย

อาหารไทยเวลาไปต่างประเทศจะเห็นติดตรา ฮาลาล อยู่แล้ว ถ้าเป็นอาหารสำเร็จรูป ปัญหาอีกอย่างคือ ฮาลาล บางประเทศให้ความเชื่อมั่นมากน้อยแตกต่างกันไป อย่างเช่น ถ้าบอกว่าฮาลาลมาจากอินโดนีเซียหรือมาเลเซียจะได้แต้มต่อเยอะ แต่ถ้าเมืองไทยจะต้องเข้ามาตรวจเข้มงวดมากขึ้น ไม่ใช่อุปสรรคเพราะเรามี SMEs ที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศพอประมาณ ต้องยอมรับว่ากลุ่มประเทศมุสลิมในเอเชียมีประชากรทั้งหมด 300 ล้านคน จะมีกลุ่มนึงที่เคร่งมากและมีกลุ่มรุ่นใหม่ที่ไม่เคร่งมาก เป็นสิ่งที่มีโอกาสอยู่ ซึ่งแบล็คแคนยอนในประเทศที่เป็นมุสลิมก็จะต้องมีข้อจำกัดเรื่องนี้เช่นอาหารจะไม่มีหมู เชฟ ซัพพลายเออร์จะต้องเป็นคนท้องถิ่น

ประเทศในกลุ่ม CLMV กัมพูชา, ลาว, พม่า, และ เวียดนาม ยังมีศักยภาพ ถึงแม้จะเป็นกลุ่มประเทศที่จัดว่าด้อยพัฒนาแต่ก็กำลังขยับขึ้นมาด้วยเม็ดเงินจากตะวันตกและนานาประเทศที่สนใจไปลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจดี แบล็คแคนยอนเองก็ขยายการลงทุน อย่างที่ลาวเรามี 2 สาขาอีกสองเดือนข้างหน้าจะไปเซอร์เวย์พื้นที่เพิ่มเพราะพาร์ทเนอร์ของเราที่นั่น เขาทำธุรกิจด้านค้าปลีก มองเห็นโอกาสและพาทีมงานแบล็คแคนยอนไปเซอร์เวย์ดูโอกาสในการเปิดร้านเพิ่มอย่างหลวงพระบางหรือหัวเมืองต่างๆ แต่ต้องยอมรับว่าประชากรในลาวยังไม่มากนัก เพราะฉะนั้นธุรกิจที่ไปเปิดไม่ใช่ว่าจะไปได้ทุกหัวเมืองใหญ่ๆ ต้องดูว่าเป้าหมายเราเป็นคนท้องถิ่น มีต่างชาติเข้ามา

สำหรับพม่าเองได้รับการติดต่อจากผู้สนใจหลายราย ภายในปีนี้จะมีการเซ็นต์สัญญากับรายใหม่และเปิดสาขาอย่างน้อย 2 สาขาในพม่า สิ่งที่นักลงทุนอาจจะมองไม่เห็นปัญหา คือในพม่าค่าเช่าแพงมาก การลงทุนในพม่าต้องใช้เงินทุนสูง ค่าก่อสร้างสูงกว่าในเมืองไทย 25-30% ค่าเช่าแพงกว่าเมืองไทย 50-100% ซึ่งต้นทุนสูงขึ้นในทุกหมวด กลุ่มเป้าหมายการขายอาหารต่อมื้อตกหัวประมาณ 200 บาทขึ้นไป และยังมีปัญหาเรื่องเส้นทางขนส่งที่รัฐบาลพยายามปรับปรุง ศูนย์การค้าที่ใหญ่จริงๆมีไม่กี่แห่ง เห็นว่ากำลังก่อสร้างอีกหลายแห่ง เป็นเรื่องของเงินทุนไหลเข้าที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ในอนาคตผู้ประกอบการไทยมีโอกาสแต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมและต้องหาหุ้นส่วนที่เป็นคนท้องถิ่นที่มีแบ็คอัพ ถ้าไม่ไปจับมือพวกนี้มีโอกาสเกิดยากมาก และตอนนี้ไลฟ์สไตล์ของคนพม่าเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ยอมรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาเริ่มเปิดโอกาส และพม่าเป็นเมืองที่มีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวเยอะมากแต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง

อย่างล่าสุดผมไปที่พุกาม เมืองบากัน เสน่ห์ของเจดีย์ที่มีเป็นพันๆแห่ง เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาแห่งหนึ่งในอดีต เป็นเมืองที่ฝรั่งไปเยอะมากแต่ถนนไม่ดี โรงแรมดีๆไม่ค่อยมี มีร้านอาหารที่สะอาดๆยังไม่ค่อยมี มองว่าเป็นโอกาสที่อยากไปเปิดแบล็คแคนยอนที่เราจะทำอาหารให้ถูกสุขลักษณะ บรรยากาศดีๆ พอฝรั่งมาทานทำให้มั่นใจในคุณภาพอาหารและบริการ ท่ามกลางที่ไม่มีร้านสะอาด ระบบการจัดการที่ดี เหมือนมีอุปสรรคแต่กลายเป็นโอกาสสำหรับแบล็คแคนยอน

กุญแจแห่งความสำเร็จ

ใช้หลักอักษร 5 ตัว S T E P E มาประมวลกัน ตัวผู้ประกอบการต้องมีมุมมองที่ดีในการมองธุรกิจ มองให้แม่นยำและต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการเข้าหาคนอื่น ปกครองคน คุยกับลูกค้า และมุ่งมั่น มานะพร้อมที่จะทำงานหนัก และต้องมีเครือข่ายเหมือนใยแมงมุม ถ้าไม่มีเครือข่ายจะโตยากมาก อาศัยพันธมิตรทางธุรกิจที่ต้องร่วมกัน เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่ทุกคนรู้และบางทีอาจหลงลืมไปซึ่งการเปลี่ยนแนวคิดของนักธุรกิจรุ่นใหม่ว่าอย่าทำอะไรโดยที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่มีการศึกษาข้อมูล ควรนำเรื่องระบบเข้ามาช่วย อย่างเช่นการขยายตัวธุรกิจของญี่ปุ่น อเมริกา ธุรกิจเค้าเซ็ทระบบก่อนค่อยลงมือทำงาน บุคลากร คู่มือการทำงานก็สามารถเดินได้ตามระบบ แบล็คแคนยอนเราไม่หยุดพัฒนา ในปัจจุบันเรามีระบบที่ชัดเจน การบริหารจัดการจึงสะดวก ส่วนต่างๆ ทำงานง่ายขึ้น ต่างชาติเห็นก็มั่นใจว่าถ้าเราไปลงทุนธุรกิจของเขาหรือเขามาเป็นแฟรนไชส์ซีของแบล็คแคนยอนก็สามารถจะทำธุรกิจร่วมและต่อยอดได้