การขยายตัวของอาหารญี่ปุ่นก็ให้ให้เกิดการรวมตัวของเชฟอาหารญี่ปุ่นขึ้นจากสมาคมพ่อครัวไทย โดยแยกย่อยออกมาเป็นชมรมพ่อครัวไทย-ญี่ปุ่นขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
ดร.วิโรจน์ กุศลมโนมัย, ประธานกรรมการ กุศมัย กรุ๊ป และรองประธานชมรมพ่อครัวไทย-ญี่ปุ่น แสดงทัศนะเรื่องการเติบโตของธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยว่า ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารญี่ปุ่นถือว่าเติบโตมากที่สุด ทั้งในแง่ของจำนวนแบรนด์และยอดขาย ทั้งที่มีอุปสรรคด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ยังได้ปัจจัยที่ช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมนี้ดำเนินไปได้อย่างมีอนาคต ทั้งจากองค์กรส่งเสริมร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ
(JRO : The Organization to Promote Japanese Restaurants Abroad ) และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA : Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) ทำให้มีการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ส่งผลต่อราคาต้นทุนการทำร้านอาหารที่ลดลง รวมทั้งหลังจากเหตุการณ์โรงงานนิวเคลียร์ระเบิด ที่จังหวัดฟูกูชิมะ มีการฟื้นตัวของค่าเงินเยนที่แข็งขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงสนับสนุนให้คนญี่ปุ่นมาลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ยังประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารโดยผ่านรูปแบบของการขายแฟรนไชส์
ทำให้ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมามีการขยายแบรนด์แฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นมีการแข่งขันที่สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นจะเปิดในรูปแบบสแตนอโลนเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ในย่านสี่พระยา ธนิยะ และสุขุมวิท 31/33 และรองรับกลุ่มลูกค้าในวงแคบ แต่ในปัจจุบันอาหารญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เปิดและขยายตัวตามห้างสรรพสินค้า กลายเป็นเชน เรสเตอร์รองค์ประเภทหนึ่ง ด้วยภาพลักษณ์ที่สร้างมูลค่าได้ประกอบกับกลยุทธ์ทางการตลาดเป็นตัวผลักดัน ทำให้ครองความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยได้ในที่สุด และครองอันดับหนึ่งของสัดส่วนประเภทร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า โดยมีเจ้าตลาดอยู่ไม่กี่แบรนด์ ซึ่งแบรนด์ที่ครองตลาดนั้นจะมีประเภทอาหารที่หลากหลายครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบครัน แต่ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาสร้างสีสันทั้งที่เป็นแบรนด์ใหม่ที่คิดค้นจากผู้ประกอบการชาวไทย แบรนด์แฟรนด์ไชส์จากญี่ปุ่น รวมไปถึงแบรนด์จากต่างประเทศ ในลักษณะของประเภทอาหารที่มีความเจาะจงมากขึ้น
“การจากการขยายตัวของอาหารญี่ปุ่นก็ให้ให้เกิดการรวมตัวของเชฟอาหารญี่ปุ่นขึ้นจากสมาคมพ่อครัวไทย โดยแยกย่อยออกมาเป็นชมรมพ่อครัวไทย-ญี่ปุ่นขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ให้ความร่วมมือกันในการจัดกิจกรรมต่างๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และให้คำแนะนำปรึกษาซึ่งกันและกัน” ดร.วิโรจน์ชี้แจงว่า ในส่วนของชมรมพ่อครัวไทย-ญี่ปุ่นตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 100 คน ซึ่งในฐานะรองประธานชมรมฯ จะมีหน้าที่เชื่อมโยงประสานเครือข่ายให้แก่สมาชิกของชมรมและบุคคลที่เข้ามาขอรับคำปรึกษา อาทิเช่น เรื่องของการเปิดแฟรนไซส์ร้านอาหารญี่ปุ่น การแข่งขันทำอาหารญี่ปุ่นในเวทีต่างๆ การจัดเลี้ยงนอกสถานที่ การเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งการไปทำงานต่างประเทศ ฯลฯ และต่อไปก็จะมีการจัดทำเว็บไซต์สื่อกลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อ รวมทั้งตั้งเป้าที่จะเปิดสอนการทำอาหารญี่ปุ่นให้กับผู้สนใจทั่วไป ควบคู่ไปกับการสร้างพ่อครัวญี่ปุ่นหน้าใหม่ขึ้นมาประดับวงการ โดยอาจมีการตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อส่งเชฟที่ผ่านการฝึกฝนในนามชมรมฯ กระจายไปทำงานตามร้านอาหารที่ต้องการเชฟ เป็นต้น”
อีกหนึ่งบทบาทของดร.วิโรจน์ก็คือ การเป็นผู้บริหารของกุศมัย กรุ๊ป บริษัทนำเข้าเครื่องใช้ในร้านอาหารจากทั่วโลก กว่า 600 ชนิด ซึ่งในปีนี้ถือเป็นปีแห่งการปรับปรุงระบบการดำเนินงานของธุรกิจในทุกด้านก่อนจะเปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงโชว์รูมแสดงสินค้า การพัฒนาแบรนด์แฟรนไชส์ร้านอาหารต้นแบบดร. ซูชิ, ดร.ยากิ, ดร.เทปัน ให้แข็งแกร่งและเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการผลิตนวัตกรรมอาหารญี่ปุ่นสำเร็จรูปเพื่อจัดจำหน่าย ซึ่งตอนนี้วิจัยนำร่องออกมาทดลองตลาดแล้ว 15 เมนู ซึ่งได้รับผลตอบรับที่น่าพอใจจากกลุ่มร้านอาหารเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องการเพิ่มความหลากหลายให้กับเมนู โดยที่ยังสามารถควบคุมต้นทุนและลดความยุ่งยากในการจัดการได้ และในฐานะที่คร่ำหวอดในธุรกิจร้านอาหารมานาน ดร.วิโรจน์จึงส่งท้ายถึงเคล็ดลับในการบริหารร้านอาหารญี่ปุ่นให้ประสบความสำเร็จได้จะต้องมี QSCV ได้แก่ คุณภาพของอาหารที่ดี การบริการที่ดี สุขอนามัยที่ดี และประสบการณ์ที่ดี มอบให้กับลูกค้า
กลุ่มหนุ่มสาว ที่บอกเล่าเรื่องราว ร้านอร่อยหรูทั่วไทย จากฝีมือเชฟระดับโลก และเจ้าของร้านอาหารชั้นนำ