ตอนนี้เราไม่ได้มองแค่เทรนด์อาหารญี่ปุ่นอย่างเดียวเท่านั้น แต่มองถึงเทรนด์อาหารทั้งโลก เพื่อนำมาปรับใช้และผสมผสานให้เข้ากับสไตล์อาหารในแบบของโออิชิ ซึ่งถือเป็นการปรับจุดยืนของแบรนด์จากการเป็น King of Japanese Food มาสู่การเป็น King of Food
คุณไพศาล อ่าวสถาพร, รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจอาหารญี่ปุ่นทั่วโลกว่า “ทุกวันนี้อาหารญี่ปุ่นเติบโตเพิ่มขึ้นในนานาประเทศและน่าจะติด Top 5 ของอาหารยอดนิยมจากทั่วโลก ยกเว้นแต่ในประเทศญี่ปุ่นเองที่อัตราการขยายตัวลดลง เพราะกระแสการเข้ามาของอาหารตะวันตกและเบเกอรี่ ที่ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไป เช่น การกินพาสต้า แซนวิส ขนมปัง และชีส มากขึ้น ตรงกันข้ามกับชาวไทยที่หันมาให้ความนิยมอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพราะได้เรียนรู้ ลองชิม และซึมซับวัฒนธรรมและอาหารญี่ปุ่นจากการเดินทางไปท่องเที่ยว ทำให้ตอนนี้คนไทยเริ่มปรับตัว รสนิยมการกินอาหารญี่ปุ่นถูกยกระดับขึ้น รวมถึงมีความเชี่ยวชาญด้านอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบอาหารจากญี่ปุ่น และธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีลักษณะและประเภทอาหารที่แปลกใหม่ในตลาด”
ตอนนี้คนไทยเริ่มปรับตัว รสนิยมการกินอาหารญี่ปุ่นถูกยกระดับขึ้น รวมถึงมีความเชี่ยวชาญด้านอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบอาหารจากญี่ปุ่น และธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันภาพรวมของเศรษฐกิจอาจยังชะลอตัวอยู่ ทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายเป็นไปอย่างระมัดระวัง แต่ถ้ามองเฉพาะธุรกิจอาหารในประเทศไทยพบว่าแม้จะไม่หวือหวาแต่ก็เติบโตต่อเนื่อง เพราะตัวเลขของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยถึงมูลค่าตลาดอาหารในปี 2558 อยู่ที่ 2.57 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มอาหารในประเทศ 1.49 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 58 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือ 42 เปอร์เซ็นต์มาจากธุรกิจส่งออก ซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2557 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์
เราพบว่าผู้บริโภคชาวไทยมีการบริโภคอาหารเฉลี่ยประมาณ 2.2 หมื่นบาทต่อคนต่อปี เพิ่มจากปี 2557 ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ โดยมูลค่าจำนวนจำนวน 1.49 ล้านล้านบาทนั้น สามารถแยกออกเป็นร้านอาหารทั่วไป 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การบริโภคร้านอาหารที่เป็นเชนใหญ่ๆ นั้น ยังน้อยมากเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งเป็นโอกาสดีที่เอื้อให้ธุรกิจร้านอาหารประเภทเชนมีช่องทางการเติบโตอีกมาก ในฐานะคนทำธุรกิจก็ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ โดยเฉพาะด้านโลเกชั่น ที่เหมาะสมและตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนั้นหากนับจำนวนร้านอาหารในปัจจุบันที่มีการแจ้งจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ในปีที่แล้ว มีรายชื่อกว่า 1 หมื่นราย แบ่งสัดส่วนเป็นอาหารไทย 84 เปอร์เซ็นต์ อาหารอเมริกัน 3% อาหารญี่ปุ่น 2% อาหารฝรั่งเศส 1% และอาหารประเภทอื่นๆ ตามลำดับ โดยอาหารญี่ปุ่นยังครองแชมป์ประเภทอาหารที่มีการเติบโตสูงสุด
ในฐานะที่โออิชิเป็นพี่ใหญ่ในวงการอาหารญี่ปุ่นเมืองไทย ที่โลดแล่นบนเส้นทางนี้มากว่า 16 ปี ก็มีแผนการปรับกลยุทธ์อย่างยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วกับการวางระบบใหม่ทั้ง 5 แบรนด์ ได้แก่ โออิชิ บุฟเฟ่ต์, ชาบูชิ, โออิชิราเมน, คาคาชิ และนิกุยะ โดยทำเทรนด์เซ็นเตอร์วิเคราะห์ความได้เปรียบและอุปสรรคเพื่อปรับภาพลักษณ์และบุคลิกให้ทันสมัยสอดรับกับพฤติกรรม และตอบโจทย์กระแสการบริโภคซึ่งได้รับความนิยมในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะกระแส Clean and Green Food ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพอาหารควบคู่กัน กระแสที่สองคือ การมีซิกเนเจอร์เมนูประจำร้าน ซึ่งในประเด็นนี้เป็นโจทย์ท้าทายที่โออิชิกรุ๊ปต้องสร้างความแตกต่างเพื่อกระตุ้นความสนใจให้เกิดกับลูกค้า โดยเริ่มต้นที่แบรนด์นิกุยะกับการออกเมนูที่ชื่อว่า “บิ๊กกุนิกุ” เป็นเมนูเนื้อหมักด้วยซอสสูตรพิเศษชิ้นใหญ่เท่าใบหน้าคน ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากจากลูกค้า กระแสต่อมาคือ เทรนด์ออนไลน์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศและในเมืองไทยเองก็เป็นกลยุทธ์ที่น่าจับตามอง และเนื่องจากตอนนี้โออิชิมีการทำเรื่องของเดลิเวอรี่โดยใช้โทรศัพท์เป็นสื่อกลางอยู่แล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นและการสั่งซื้อ ในรูปแบบเดลิเวอรี่ออนไลน์ ซึ่งน่าจะเห็นได้กันในเร็วๆ นี้ รวมถึงการขายบัตรสมาชิกที่สามารถใช้เป็นส่วนลดได้ทุกแบรนด์ในเครือที่ดำเนินการมาได้ 2 ปีแล้วซึ่งนอกจากความสะดวกสบายในการใช้งานแล้ว สมาชิกยังได้รับสิทธิประโยชน์มากมายในการสมัครบัตรเพียงครั้งเดียว
เราจะขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศอาเซียนก่อนเพราะมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ตอนนี้เรานำร่องเปิด ชาบูชิ ที่ประเทศพม่าไปแล้วถึง 3 สาขา และกำลังจะเปิดอีก 2 สาขาในปีนี้
“ตอนนี้เราไม่ได้มองแค่เทรนด์อาหารญี่ปุ่นอย่างเดียวเท่านั้น แต่มองถึงเทรนด์อาหารทั้งโลก เพื่อนำมาปรับใช้และผสมผสานให้เข้ากับสไตล์อาหารในแบบของโออิชิ ซึ่งถือเป็นการปรับจุดยืนของแบรนด์จากการเป็น King of Japanese Food มาสู่การเป็น King of Food และนอกจากการปรับกลยุทธ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังสานต่อการขยายสาขาควบคู่ไปด้วย ซึ่งปีนี้เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้เราตั้งเป้าขยายสาขาในประเทศไทยไว้ที่ 30 สาขาโดยประมาณ เน้นการขยายของแบรนด์ชาบูชิและนิกุยะเป็นหลัก ร่วมกับการปรับปรุงหน้าร้านสาขาที่มีอยู่ให้ทันสมัยขึ้น”
“ส่วนในต่างประเทศ เราจะขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศอาเซียนก่อนเพราะมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ตอนนี้เรานำร่องเปิด ชาบูชิ ที่ประเทศพม่าไปแล้วถึง 3 สาขา และกำลังจะเปิดอีก 2 สาขาในปีนี้ ส่วนที่ลาวก็มีโครงการจะเปิดชาบูชิในปี 2560 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เรายังมีการประเมินโอกาสและความเหมาะสมในการเปิดสาขาที่กัมพูชาเป็นประเทศถัดไป ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เลือกพาแบรนด์ชาบูชิไปเปิดในต่างประเทศ เพราะเป็นแบรนด์ที่ทำรายได้สูง และผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านรู้จักแบรนด์นี้ และเข้าใจวิธีการรับประทาน ทำให้ชาบูชิมีความได้เปรียบในการทำแบรนด์ที่ต่างประเทศมากกว่าแบรนด์อื่นๆ”
ทุกธุรกิจมี Blue Eyes เมื่อเทรนด์การบริโภคเปลี่ยน คนทำธุรกิจก็ต้องมีความคล่องตัวในการเสริมกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อให้สอดรับกับความแปลงเปลี่ยน
คุณไพศาลยังกล่าวปิดท้ายว่า “ทุกธุรกิจมี Blue Eyes เมื่อเทรนด์การบริโภคเปลี่ยน คนทำธุรกิจก็ต้องมีความคล่องตัวในการเสริมกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อให้สอดรับกับความแปลงเปลี่ยน โดยเฉพาะธุรกิจอาหารญี่ปุ่นที่มีการแข่งขันสูง และบางแบรนด์อาจชูเรื่องของราคาเข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการแข่งขัน ซึ่งการทำเช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจ ดังนั้นผมมองว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยควรให้ความสำคัญก็คือ เรื่องของคุณภาพมาตรฐานที่ดี เพราะสิ่งนี้จะเป็นเหมือนสายใยที่เชื่อมโยงระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ได้อย่างยั่งยืนที่สุด”
กลุ่มหนุ่มสาว ที่บอกเล่าเรื่องราว ร้านอร่อยหรูทั่วไทย จากฝีมือเชฟระดับโลก และเจ้าของร้านอาหารชั้นนำ