เชฟทอดด์ สรดิษ มธุรตรัย

เชฟทอดด์ย้อนเล่าประสบการณ์กว่า 9 ปีที่ผ่านมาอย่างสนุกสนานว่าในช่วงต้นของการเรียนทำอาหาร เชฟเหมือนเป็นฟองน้ำคอยดูดซับเอาความรู้ทุกอย่างที่ได้เรียนมาไว้ที่ตัว สไตล์การทำขนมของตัวเองนั้นจะหยิบเมนูง่ายๆ ที่คนรู้จักขึ้นมานำเสนอในมุมมองใหม่ โดยจะมีความแตกต่างจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่ทำ ขึ้นอยู่กับว่าเชฟจะตีความวัตถุดิบจานนั้นๆ อย่างไร

เชฟทอดด์ สรดิษ มธุรตรัย
เชฟทอดด์ สรดิษ มธุรตรัย

ถ้าเราจะเปรียบบรรดาขนมอบจานอร่อยที่เรียงรายอยู่ตรงหน้าเป็นเพลงคลาสสิกอันแสนไพเราะที่มีวัตถุดิบแต่ละชนิดเป็นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นในวงออร์เคสตราแล้วหล่ะก็ เรื่องราวของWorld Chef ฉบับนี้ก็คงเปรียบเสมือนเป็นคอนดักเตอร์ผู้สง่างาม ที่สร้างสรรค์ความหวานลงจานขนมในรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเจิดจรัสท่ามกลางแสงไฟ เชฟทอดด์ สรดิษ มธุรตรัย Pastry Chef รุ่นใหม่ไฟแรงจาก Kendal College เมือง Chicago รัฐ IIIinois สหรัฐอเมริกา ทางด้าน Associate Degree of Applied Science in Baking and Pastry

เชฟทอดด์ย้อนเล่าประสบการณ์กว่า 9 ปีที่ผ่านมาอย่างสนุกสนานว่าในช่วงต้นของการเรียนทำอาหาร เชฟเหมือนเป็นฟองน้ำคอยดูดซับเอาความรู้ทุกอย่างที่ได้เรียนมาไว้ที่ตัว และด้วยความเป็นคนมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ ทำให้เชฟก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ทุกครั้งและเข้มแข็งขึ้นทุกครั้งเช่นกันโดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นทำงานหลังจากเรียนจบ ที่ไม่ว่าใครก็คงยอมรับการทำงานฟรีตลอด 8 เดือนได้ยากแต่เชฟทอดด์ก็ผ่านมันมาแล้วที่ร้าน Charlie Trotter’s ร้านอาหารที่เคยติดอันดับ 1ใน5 ร้านดังของอเมริกา ซึ่งเชฟถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากมายจนไม่สามารถตีมูลค่าออกมาเป็นเงินได้ การทำงานที่ร้านนี้ทำให้เชฟที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับเชฟระดับโลกหลายท่าน เชฟใช้เวลาและความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ ในการเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อสร้าง “มาตรฐานและความสมบูรณ์แบบ”ด้านการทำงานให้กับตัวเองซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเชฟรุ่นใหม่และผลงานของเชฟที่ยังคงเป็นที่จดจำและชวนให้อยากลิ้มลองสักครั้งหากมีโอกาสมีหลายต่อหลายเมนู โดยเฉพาะช่วงที่ทำงานให้กับร้าน More Cupcakes ที่ Chicago เชฟใช้เวลาถึง 4 เดือนในการสร้างสรรค์เมนู“BLTCupcake (Bacon Lettuce Tomato)” ที่กลายมาเป็นเมนูที่ Oprah Winfrey เขียนถึงในคอลัมน์ Top 10 Oprah’s Favorite Things 2010 (10 อันดับที่ชื่นชอบของโอปราห์วินฟรีย์) จากO Magazine ในปี 2010 เชฟทอดด์บอกว่า สไตล์การทำขนมของตัวเองนั้นจะหยิบเมนูง่ายๆ ที่คนรู้จักขึ้นมานำเสนอในมุมมองใหม่ โดยจะมีความแตกต่างจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่ทำ ขึ้นอยู่กับว่าเชฟจะตีความวัตถุดิบจานนั้นๆ อย่างไร เช่น แครอทเค้กที่เราคุ้นเคย เชฟทอดด์สามารถทำออกในเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันนับ 10 แบบ ซึ่งตอกย้ำคำกล่าวขานของ TRN ที่เปรียบเปรยเชฟเป็นเหมือนคอนดักเตอร์ที่ ตีความทุกตัวโน๊ตให้แตกต่างและลงตัวได้เป็นอย่างดี ส่วนวันนี้เชฟทอดด์จัดเต็มกับ 4 เมนูจานหวาน ที่ไม่สามารถหากินได้จากที่อื่นมาให้ลิ้มลอง

Pumpkin returns!
Pumpkin Returns

เริ่มจากพัมกิ้นส์ รีเทิร์น (Pumpkin Returns) ความลงตัวของฟักทองและโดนัททานอุ่นๆ หวานนุ่มนวลหอมกลิ่นชินนามอนและบราวบัตเตอร์เจือความมันจากไข่แดง ทานคู่กับแอปเปิ้ลสดตัดความมันได้ลงตัว

My sweet breakfast
My sweet breakfast

มาปลุกให้ตื่นรับวันที่สดใสกันต่อด้วยมายด์สวีทเบรคฟาสต์ (My Sweet Breakfast) หลับตานึกถึงกลิ่นหอมเย้ายวนของขนมอบจากเตาที่ปลุกความสดชื่นให้ตื่นในรุ่งเช้าของวันอันแสนอบอุ่น จานนี้เป็นการเอาแป้งขนมปังผสานกับแป้งเค้ก เติมแต่งด้วยสัมผัสหลากหลายของท๊อฟฟี่ เฮเซลนัทและมูสช็อกโกแลต บดรวมกันให้ความกรุบกรอบ อบด้วยซอส Whisky Sticky Goo ให้ซึมเข้าในตัวขนมปังเวลาทานจะได้กลิ่นถั่ว รสฉ่ำหวานของลูกเกด ตัดด้วยความเค็มจากเบคอนรวมถึงความหอมของน้ำตาลทรายแดง น้ำผึ้ง วิสกี้ เนย บัตเตอร์สก็อตและชินนามอน ทานคู่กับไอศกรีม Salted – Maple Ice-Creamที่มีรสเค็มสลับหวาน ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังนั่งฟังเพลงคลาสสิกที่บรรเลงจากวงออเคสตร้า ถือเป็นจานหวานที่เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ลิ้มลองได้อย่างแท้จริง

Lemon Up
Lemon Up

มาติดๆกับ เลมอน อัพ (Lemon Up) รสชาติเปรี้ยวหวานจี๊ดจ๊าดของเลมอนชัดเจน เคล้าความซาบซ่า สดชื่น พร้อมด้วยเมอแรงค์2 แบบ ทั้ง French Meringue Shards ที่มีความกรุบ และเมอแรงค์ที่ออก Creamy คือ Swiss Meringue ร่วมกับผงโยเกิร์ตและสตรอเบอร์รี่สด

Carrot Vol. II

ก่อนปิดท้ายด้วยเมนูแครอทเค้ก โวลุ่ม2 (Carrot Vol. II)ที่ยังคงความเป็นแครอทเค้กตำรับอเมริกันดั้งเดิมที่มีส่วนผสมของเนื้อสับปะรดสับ วอลนัล เกล็ดมะพร้าว และลูกเกด แต่เชฟทอดด์เพิ่มความพิเศษด้วยรสสัมผัสใหม่เป็นการโควจมาพบกันครั้งแรกของแครอทเค้กและชาเขียว หอมกลิ่นลูกเกดบด(Raisin Puree) และชาเขียว ถือว่าอร่อยลงตัวทีเดียว

จบ 4 เมนูนี้แล้ว ปริมาณน้ำตาลพุ่งปรี๊ดไปที่ระดับไหนไม่อาจคาดเดา แต่เรื่องแรงบันดาลใจและจินตนาการในการสร้างสรรค์ขนมแต่ละจานนั้น ยากที่จะบรรยายออกมาเป็นตัวหนังสือได้จริงๆ บอกลากันอยู่ 3 รอบ กว่าจะจบการพูดคุยในวันนี้ และเชฟทอดด์ได้ให้คำจำกัดความของการเป็น “Chef”ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การเรียนจบด้านปรุงอาหารและใส่เสื้อเชฟ ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถเรียกตัวเองเป็น Chefได้ทันที เพราะอาชีพนี้ต้องอาศัยเวลา ความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์เป็นเครื่องพิสูจน์เมื่อใดก็ตามที่สามารถเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นในแง่ของการปรุงอาหารและแก้ไขอุปสรรคนั้นๆ ได้ รวมถึงผู้คนชื่นชอบยอมรับในอาหารที่เราทำ นั่นแหละคือเวลาที่จะสามารถเรียกตัวเองว่า “Chef” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ”

สถานที่ ร้าน Nova Tearoom ชั้น 9 Helix Building EmQuartier กรุงเทพฯ