10 เทรนด์ธุรกิจโลก ปี 2567 เมื่อ “เศรษฐกิจ” ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และ AI องค์กรไทยจะไปทางไหน?
นับจากนี้อีกเพียงไม่กี่เดือนก็จะหมดปี 2567 กับช่วงเวลาที่เหลือ เราๆ ท่าน ๆ ผู้ทำงานแบบลืมป่วย ต้องเร่งตุนทุกเรื่องเพราะไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นทั้งเหตุการณ์ภายในประเทศ อย่างการเมือง ค่าครองชีพ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ส่วนต่างประเทศอนาคตเราอาจได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นจากสถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อ และใกล้บ้านเราก็มีสงครามมาประชิดเช่นเดียว บนความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ที่ยากจะคาดเดาว่า จะไปทางไหน ? อีกทั้งในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะ หดตัว ซบเซา ทำให้บรรดาบริษัท หน่วยธุรกิจทุกขนาด ต่างต้องระมัดระวัง การใช้จ่ายและทุ่มการลงทุนในไอเดียใหม่ๆ เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจ
อ้างอิงข้อมูล สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้ว่า อย่างไรก็ตาม ในบริบทของโลกตอนนี้ มีประเด็นทางเทคโนโลยี และประเด็นทางสังคมโลกอยู่หลายประเด็น ที่ได้รับความสนใจในเวทีโลก และควรค่าแก่การได้รับการพัฒนาและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มากกว่าที่จะปล่อยทิ้งไว้ไป โดยเฉพาะการก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
ดังนั้น “เทรนด์ธุรกิจในปี 2024” หรือ เทรนด์ปี 2567 นั้น เป็นที่แน่นอนแล้วว่าเทคโนโลยี AI จะถูกนำมาใช้ในการทำงานหลายส่วนของภาคธุรกิจมากขึ้น ส่วน 10 เทรนด์ธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการควรเตรียมตัว และลองมาเช็คดูว่าเวลาผ่านไปครึ่งปีผู้ประกอบการได้นำเทรนด์เหล่านี้ไปปรับพัฒนาหรือหาไอเดียใหม่หรือไม่อย่างไรซึ่งภาพรวม มีดังนี้
ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI)
ว่ากันว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า AI จะมีบทบาทอย่างเต็มตัว ฉะนั้น เราจะต้องออกแบบแผนการใช้งาน Generative AI ที่ชัดเจน และมีประสิทธิภาพตั้งแต่วันนี้ โดย Generative AI จะกลายเป็นเครื่องมือทรงพลังในการใช้สร้างและควบคุมประสบการณ์ของลูกค้าแบบอัตโนมัติให้กับทุกองค์กร
ทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skills) และสัมผัสของความเป็นมนุษย์ (Human Touch) คือ คุณลักษณะที่เป็นที่ต้องการของธุรกิจ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้การทำงานหลายๆ ส่วนของธุรกิจที่ในอดีตจะต้องใช้แรงงานที่มีความรู้และทักษะเฉพาะทาง เช่น การวิจัยข้อมูล การเขียนโค้ด และการจัดการข้อมูล สามารถที่จะแทนที่ โดยระบบอัตโนมัติในการจัดการ ทำให้ทางภาคธุรกิจ จึงเริ่มหันมาให้ความสนใจ ต่อความสามารถในการทำงานร่วมมือกับแต่ละฝ่าย ให้มีผลสำเร็จตามเป้าหมายและมีทัศนคติที่ดีต่อกัน ส่งผลให้ Soft Skills และ Human Touch กลายเป็นคุณลักษณะสำคัญที่หลายบริษัทต่างเฟ้นหาในตัวบุคลากร
เราจะได้เห็นการลงทุนในการเพิ่มทักษะ (upskill) และการเปลี่ยนทักษะ (reskill) ที่ใช้ในการทำงานร่วมกับ Generative AI และทักษะที่จำเป็นของการทำงาน ในยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย AI นอกเหนือจาก วุฒิการศึกษาและอายุ ซึ่งแนวคิดนี้จะได้รับความสนใจและถูกนำไปใช้ในหลายบริษัททั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
การให้ความสำคัญกับทักษะในการแก้ปัญหาในการทำงาน (Skill Solution) ของแรงงาน
ธุรกิจที่ดำเนินการด้วยความใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Sustainable Business) คือ ธุรกิจที่จะชนะใจผู้บริโภค
งานวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกต่างบ่งชี้ว่า ผู้บริโภคในยุคนี้เริ่มที่จะนิยมเลือกใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทที่แสดงจุดยืน ที่จะลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จากการประกอบการของตน ในอีกด้านหนึ่ง การเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) แต่ขณะเดียวกัน ตัวผู้บริโภคเองก็เริ่มฉลาดขึ้น ในการจับโกหกบริษัท ที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ เป็นบริษัทรักษ์โลก ที่ชอบแอบอ้างถึงความรับผิดชอบของตัวบริษัท ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อปกปิดการประกอบการของตัวบริษัทที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยบ่งบอกอีกว่า ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าหรือบริการที่สามารถปรับแต่งตามความต้องการของตนได้ เพื่อสร้างอิสระในการบริโภคและแสดงตัวตน ผ่านการใช้งานสินค้าของบริษัท เห็นได้จากการที่ L’Oréal ที่เป็นบริษัทผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ที่สามารถปรับแต่งเฉดสีให้กับสีผิวของลูกค้าได้
การผลิตสินค้าที่ปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างความประทับใจสูงสุด
เศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Economy)
ข้อมูลกำลังกลายเป็นสินทรัพย์ (assets) ที่มีมูลค่ามหาศาลต่อตัวบริษัท โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2024 จะมีบริษัทจำนวนมากที่ใช้ข้อมูล ในการออกแบบกลยุทธ์ เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และพัฒนาสินค้าหรือบริการที่มอบให้แก่ลูกค้า อีกทั้งยังส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีความพร้อมและความสามารถที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ต่อยอดในการทำรายได้ และเปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
ปฏิวัติการสร้างประสบการณ์ของลูกค้า สู่ความประทับใจในทุกมิติ
ในปี 2024 ความประทับใจของลูกค้าสามารถวัดและตีค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ในทุกๆ จุดที่ลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์กับตัวบริษัท ส่งผลให้เกิดการทำการตลาดยุคใหม่ ที่เรียกว่า Personalization Marketing หรือการทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ แม่นยำ ทันท่วงที ไร้ความยุ่งยาก และแก้ปัญหาได้ตรงจุด
การทำงานทางไกล อิสระ ไม่ยึดติดสถานที่ (Remote and Distributed work) คือ รูปแบบการทำงานในอนาคต
แม้ว่าในปีนี้หลายๆ บริษัทจะเริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศเหมือนปกติ แต่ยังมีบริษัทหลายรายที่ยังรักษารูปแบบการทำงานแบบ remote working เพื่อให้พนักงานจากต่างประเทศสามารถทำงานร่วมกับบริษัทได้ ส่งผลให้การลงประกาศงานที่เป็นลักษณะ “ทางไกล” หรือ “ผสมผสาน” ยังจะมีให้เห็นเป็นจำนวนมากในตลาดแรงงานของปี 2024
อย่าลืมว่า การบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัท จะต้องดำเนินอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม (equality) ปราศจากอคติต่อเพศสภาพ และชาติพันธุ์ ที่จะก่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ต่อตัวแรงงาน ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทเสียบุคลากรที่มีศักยภาพไปได้
การยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายของแรงงาน
ความยืดหยุ่น (Resilience) ปรับตัวรับได้กับทุกสถานการณ์ คือกุญแจในการเอาตัวรอดของบริษัท
ในยุคที่วิกฤติไม่ได้มาแค่ในรูปแบบของวิกฤติเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม วิกฤติโรคระบาด สงคราม และการโจรกรรมทางไซเบอร์ ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การจะอยู่รอดในยุคต่อไปได้นั้น บริษัทจำเป็นต้องศึกษาบทเรียนจากบริษัทที่สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ทุกช่วงเวลา
ที่มา : หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (thaichamber.org)
ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจอาหาร ที่นำเสนอเรื่องราวของธุรกิจ ตลอดจนมุมมองธุรกิจจากเชฟและเจ้าของธุรกิจที่น่าสนใจ