ด้วยพันธกิจหลักของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. คือการบูรณการและผลักดันการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME และ Micro SME เติบโตให้มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและก้าวออกไปสู่ระดับสากล ทั้งนี้ทีมงาน TRN ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังนโยบายและแผนดำเนินงาน ในปี 2562 จาก ผอ.สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ในการขับเคลื่อนนโยบายสู่กิจกรรมต่าง ๆ โดยทีมงานได้สรุปประเด็นเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลนำไปพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง
นโยบายการส่งเสริม SME ปี 2562 ภายใต้แนวทาง SPEED SME ถึง ณ วันนี้มีความก้าวหน้าอย่างไร?
ในปีนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนมากโดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจรวมกันถึงร้อยละ 40 ของโลก ส่งผลต่อ SME ที่มีเป้าหมายส่งออก รวมถึงเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว กอปรกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงทั้งต่อพฤติกรรมการทาน การซื้อ การใช้ผลิตภัณฑ์และสินค้าเปลี่ยนแปลงไปด้วย “ความท้าทายในการพัฒนา SME ไทยในขณะนี้ คือเรื่องของความหลากหลายและความแตกต่างของ SME ในบ้านเรา ซึ่งมีทั้งความแตกต่างในเชิงท้องถิ่น ความแตกต่างในเชิงขนาด ความแตกต่างในเชิงอุตสาหกรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เราต้อง Customize โจทย์ให้เฉพาะเจาะจงและลึกมากขึ้น เราต้องมีวิธีการคิดที่ละเอียดยิ่งขึ้น” แต่อย่างไรก็ตามแนวทางสนับสนุนและพัฒนา SME ก็ยังอยู่ใน 5 รูปแบบ คือ
- Born Strong คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้วยความแตกต่าง มีความโดดเด่น สร้างสรรค์ มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน หรือมีงานวิจัยมาสนับสนุน ซึ่งจะเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนความเข้มแข็งของธุรกิจ
- Born Global คือกลุ่มผู้ประกอบการที่จะทราบว่าสินค้าตัวเองเหมาะกับตลาดไหนในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง ซึ่ง สสว.จะวางแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้นมาเชื่อมโยง
- Born Digital คือกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็น E-commerce โดยจัดทำ Application SME Connext ซึ่งจะให้ผู้ประกอบการรับทราบข่าว กิจกรรม ของสสว. ที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและยังเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นของประเทศไทยที่มีเป้าหมายพัฒนา SME รวมถึงจัดทำเว็บไซต์ SME ONE ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางการเข้าถึงข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ SME ในทุกมิติ
- Born General คือผู้ที่เริ่มต้นสนใจเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งต้องเริ่มจากความตั้งใจที่จะเรียนรู้เป็นผู้ประกอบการ มาสู่การเข้าใจกลไกในการดำเนินธุรกิจ
- Born@50 plus จับกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยมีแนวทางคือ การสร้างผู้ประกอบการใหม่ในวัยดังกล่าว เพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้าใจกลไกการทำธุรกิจเพื่อรองรับชีวิตหลังเกษียน
ซึ่ง สสว. จะใช้โมเดล “SME SPEED” ในการดำเนินงาน โดยเน้นให้ SME ไทยเก่ง ใน 5 เรื่อง คือ S Smart P Pro Active E ตัวแรก คือ Efficiency E ตัวที่สอง คือ Exclusive และสุดท้าย D คือ Digitalization เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรู้จักการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ผ่านโครงการต่าง ๆ
กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ SME Provincial Champions ที่ สสว. ภาคภูมิใจ
สำหรับโครงการนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้ประกอบการ SME ในชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ชุมชนส่งผลต่อภาพรวมในการสร้างรายได้หมุนเวียนเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ทั้งนี้การพัฒนาได้ปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว และเป็นที่มาของแนวคิดหลัก คือ “ ชุมชนรุ่นใหม่ หัวใจท่องเที่ยว ”
ทั้งนี้ ผอ. สุวรรณชัย กล่าวเสริมว่า “เมื่อก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล ทำให้การแข่งขันทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนา Digital Economy เป็นแนวทางสำคัญสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรู้จักการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ การเชื่อมโยงโอกาสการขายสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่สสว.ให้ความสำคัญซึ่งเทรนโลกการท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไป นักท่องเที่ยวหันมาสนใจเที่ยวในแบบวิถีธรรมชาติ วิถีชุมชนมากขึ้นจึงนับเป็นโอกาสที่ดีของชุมชนและเอสเอ็มอี ปีนี้เราจึงเน้นภาคบริการเป็นหลัก โดยใช้โจทย์ ชุมชนรุ่นใหม่ หัวใจท่องเที่ยว ชวนคนมาท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดของประเทศไทย ”
สำหรับภาพรวมโครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดหรือ SME Provincial Champions ครั้งที่ 4 มีกิจกรรม Coaching Camp ให้คำปรึกษาในลักษณะพี่เลี้ยง 8 รุ่น ใน 8 จังหวัด ทั่วประเทศ โดยนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเชี่ยวชาญในการผลักดัน SME สู่ Digital Economy จัดที่จังหวัดนครปฐม เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช สงขลา และชลบุรี ควบคู่ไปกับการคัดเลือกตัวแทน Provincial Champions 2019 ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการขยายธุรกิจในตลาดระดับประเทศ จำนวน 154 ราย เข้าร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจที่จัดขึ้นที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ที่ผ่านมา สำหรับนักช้อปที่พลาดโอกาสไม่ได้ร่วมกิจกรรมในงาน ท่านสามารถค้นหาแหล่งที่เที่ยว ซื้อของดี กินของอร่อย จากโครงการ SME Provincial Champions ได้ที่ facebook.com/ smeprovincialchampion หรือ www.provincialchamp.com
นอกจากนี้สสว. ได้นำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศ ไปศึกษาดูงานและเจรจาธุรกิจที่ประเทศเนเธอร์แลนด์จำนวน 10 ราย เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการให้เป็น Future SME ที่เก่ง ทันสมัย เรียนรู้ที่จะอยู่รอดในปัจจุบัน และพร้อมปรับเปลี่ยนสู่อนาคต
ผอ.สุวรรณชัย ยังได้อธิบายต่อว่า “เนื่องจากปีนี้เราเน้นเรื่องการท่องเที่ยว เราก็มองว่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่ประเทศไทยกลุ่มที่เที่ยวแบบวิถีธรรมชาติ มากที่สุดคือนักท่องเที่ยวยุโรป ซึ่งประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีวิถีการท่องเที่ยวคล้ายกับเรา เราจึงพา SME ที่ชนะเลิศไปดูงานที่เนเธอร์แลนด์เพราะที่นี่เป็น Eco Tourism Destinations แห่งหนึ่งของยุโรป ”
การพาไปศึกษาดูงานและเจรจาธุรกิจที่ประเทศเนเธอร์แลนด์นี้ เราจะได้ศึกษาดูงานโรงแรมขนาดเล็ก ทั้งด้านการบริหารจัดการและการบริการต่อนักท่องเที่ยว , ดูระบบฟาร์มสเตย์ที่ขยายสู่การท่องเที่ยว และการเจรจาขยายโอกาสด้านการท่องเที่ยวกับเอเยนซี่ทัวร์ชั้นนำ และที่สำคัญเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ทำให้เราได้เห็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อการค้าและการบริการอย่างมีประสิทธิภาพและเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเกษตรกรรมเหมือนไทยเรา ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ก็จะนำมาขยายผลต่อการนำความรู้กลับมาพัฒนาชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองได้เป็นและ แนวทางการพัฒนารายได้จากเกษตรและการท่องเที่ยว
ทั้งหมดนี้คือความสำเร็จของโครงการ SME Provincial Champions ปี 4 ที่สสว. ภูมิใจที่ได้สนับสนุนและสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศ เพื่อกระจายรายได้และเงินหมุนเวียนสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยว
ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจอาหาร ที่นำเสนอเรื่องราวของธุรกิจ ตลอดจนมุมมองธุรกิจจากเชฟและเจ้าของธุรกิจที่น่าสนใจ