เชฟเรณู หอมสมบัติ

เสน่ห์ของอาหารไทยคือ ความหลากหลายทางรสชาติในหนึ่งเมนู ซึ่งแต่ละรสของอาหารแต่ละจานจะส่งเสริมซึ่งกันและกันให้เกิดความอร่อย ร่วมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เกริ่นถึงอาหารไทยตั้งแต่เริ่มต้น เดาไม่ผิดแน่นอนว่า World Chef จะพามาพบกับเชฟอาหารไทย ผู้ซึ่งเติบโต หลงใหล และมุ่งมั่นพัฒนาอาหารไทยด้วยความใส่ใจทุกรายละเอียด

ก้าวสู่ปีที่ 21 ของการเป็นเชฟอย่างมั่นใจ ซึ่งกว่าจะมีทุกวันนี้เชฟเรณูได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าครัวครั้งแรกว่า “เชฟมีคุณแม่เป็นแม่ค้าข้าวแกงอยู่ที่จังหวัดลพบุรี แรกๆ ที่เข้าไปช่วยงานในครัวรู้สึกเป็นงานที่เหนื่อยมาก แต่แปลกตรงเวลาเราหิว เรากลับบ้านไปทานข้าวแล้วมีความสุข ทั้งๆ ที่แม่แค่ทอดไข่เจียวก็รู้สึกอร่อย ซึ่งแม่เชฟบอกว่าทำกับข้าวทำอะไรก็แล้วแต่ถ้าทุกอย่างมันทำมาจากใจเรา แล้วคนทานแล้วเขามีความสุข คนที่ทำจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น นั่นคือสิ่งที่แม่จะพูดบ่อยๆ” (ยิ้ม) จากแรงบันดาลใจในร้านข้าวแกงของแม่ ทำให้เชฟมุ่งมั่นเดินหน้าต่อกับการเข้ามาทำงานครัวในโรงแรมกับห้องอาหารหลากประเภทหรือแม้กระทั่งครัวของพนักงานที่โรงแรมบันยันทรี กรุงเทพฯ เชฟก็เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เรื่อยมา “เคยมีคนถามว่าทำกับข้าวพนักงาน เราจะมีความรู้สึกเหมือนเกรดตกไหม เราคิดอีกมุมหนึ่งว่าถ้าสามารถทำให้ครัวพนักงานมีความสุขกับการกินอาหาร ขอสูตรไปต่อยอด ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะเชฟเชื่อว่าถ้าเราเปลี่ยนความคิดตรงนี้ห้องอาหารจะไม่มีการแบ่งเป็นสองมาตรฐาน ไม่ว่าจะทำให้พนักงานหรือแขกในโรงแรมทาน เราต้องยึดมาตรฐานเดียวกัน คือทำให้ดีที่สุด” โดยเชฟปักหลักสร้างความสุขในการทานอาหารของพนักงานอยู่ 3 ปี จนฝีมือเลื่องชื่อจึงทำให้ได้รับโอกาสดูแลอาหารส่วนอื่นๆ ในโรงแรมมากขึ้น จนวันนี้กลายเป็น CORPORATE SAFFRON CHEF เชฟใหญ่ที่จัดการดีไซน์เมนูห้องอาหารไทยแชฟรอน ในโรงแรมบันยันทรี ทุกสาขาทั่วโลก พร้อมกับโอกาสมากมายที่ได้รับเชิญจากเชฟมิชลินสตาร์ไปร่วมแชร์อาหารไทยในต่างแดนอยู่บ่อยครั้ง

สำหรับเมนูที่เชฟเรณูจะมานำเสนอในวันนี้เราเริ่มต้นกับ Yum Pla Salmon (ยำพล่าแซลมอน) ยำแซลมอนกับน้ำสลัดแบบไทย ที่โชว์ตัวตนของสมุนไพรได้อย่างโดดเด่น รสสัมผัสไม่จัดจ้านจนเกินไป และช่วยเรียกน้ำย่อยได้ดี

Yum Pla Salmon (ยำพล่าแซลมอน)
Yum Pla Salmon (ยำพล่าแซลมอน)

เมนูถัดมาจัดมาอย่างสวยงามกับไข่สามใบ Pu Kai Gai Long (ปูไข่ไก่หลง) เนื้อปูยำจนได้รส ท้อปด้วยโฟมกะทิ คาเวียร์ ทองคำเปลวและสาระแหน่ ซึ่งความเผ็ดเล็กๆ จากน้ำพริกเผากับเนื้อปูเข้ากันได้พอเหมาะ อีกทั้งโฟมกะทิไม่ได้ทำให้รสชาติแปลกไปแต่อย่างใด

Pu Kai Gai Long (ปูไข่ไก่หลง)
Pu Kai Gai Long (ปูไข่ไก่หลง)

จัดเซ็ตใหญ่กับเมนู Panang Kae (พะแนงแกะ) หอมกลิ่นเครื่องแกงมาแต่ไกล เสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงสารพัดชนิดมาช่วยตัดความเลี่ยน ซึ่งเนื้อแกะจานนี้ปรุงมาได้พอดี ไม่มีกลิ่นรบกวนใจ

Panang Kae (พะแนงแกะ)
Panang Kae (พะแนงแกะ)

ปิดท้ายด้วยของหวานอย่าง Thai custard (สังขยารวมมิตร) สังขยา 3 รส ในถ้วยตะไล แนะนำว่าให้เรียงลำดับการกิน โดยเริ่มจาก รสขิง รสใบเตย และรสชาไทย เพื่อรับอรรรสของกลิ่นและรสชาติได้ดียิ่งขึ้น

Thai custard (สังขยารวมมิตร)
Thai custard (สังขยารวมมิตร)