กว่า 4 ทศวรรษที่ผู้ก่อตั้งร้านรุ่นแรกปูพรมด้วยรสชาติและคุณภาพของเมนูคาวหวานจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ก. พานิช จึงเป็นหนึ่งในร้านสตรีทฟู้ดแถวหน้าที่สานสายสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างแน่นแฟ้นและส่งต่อชื่อเสียงจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่ 2
หากนึกถึงสมบัติประจำชาติประเภทของหวาน ชื่อของข้าวเหนียวมะม่วง คงเป็นคำตอบแรกๆ ด้วยรสสัมผัสพิเศษที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างรสชาติหอมหวานมันกลมกล่อมของข้าวเหนียวมูนกับมะม่วงสุกฉ่ำหวานสดชื่น ทำให้ของหวานหน้าตาธรรมดาอย่างข้าวเหนียวมะม่วงเข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้คนหลากเชื้อชาติหลายยุคสมัยที่เคยลิ้มลองได้อย่างเหนือกาลเวลา
วันนี้จึงขอบุกครัว ก.พานิช ข้าวเหนียวมูนตำรับโบราณที่ยืนหยัดได้อย่างสตรองต่อเนื่องมาร่วม 9 ทศวรรษ ด้วยกลยุทธ์หลัก 2 ประการ คือ รักษาคุณภาพเป็นหัวใจหลักและต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ส่วนรายละเอียดที่เหลือนั้นต้องยกหน้าที่ให้กับเจ้าของร้านอัธยาศัยน่ารักที่ลำดับความทรงจำและวันต่อๆ ไปที่เกิดขึ้นในอ่างข้าวเหนียวแห่งนี้ให้อ่านกันแบบกลมกล่อม
คุณป้าพาณี เฉียบฉลาด เจ้าของร้าน ก.พานิช รุ่น 2 เล่าถึงอดีตที่ผ่านมาพลางยิ้มแป้นว่า หากนับกันจริงจังอายุอานามของร้านนี้ก็แตะ 90 ปี แล้ว และผู้ที่ให้กำเนิดข้าวเหนียวมูนระดับตำนานก็คือคุณแม่สามี ที่นำเอามรดกแห่งรสมือของอาหารคาวหวานหลากชนิดที่ตกทอดมาจากคุณย่าของท่านซึ่งเป็นช่างเครื่องในวัง มาเปิดหน้าร้านเล็กๆ ที่แถวตึกเก่า ริมถนนตะนาว คุณป้าพาณีบอกว่าถ้าย้อนกลับไปดูในยุคเริ่มต้นจะเห็นความละลานตาของทั้งเมนูข้าวแกงและขนมไทยหลายชนิด รองรับลูกค้าในละแวกและผู้หลักผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ จนกระทั่งปี 2475 จึงมีการขึ้นป้ายชื่อร้านเป็นครั้งแรกโดยนำเอาตัว ก. อักษรแรกจากชื่อคุณพ่อมารวมกับคำว่าพานิชที่แปลว่าการค้า และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาร้านนี้จึงถูกเรียกขานกันว่า ก.พานิช นั่นเอง
กว่า 4 ทศวรรษที่ผู้ก่อตั้งร้านรุ่นแรกปูพรมด้วยรสชาติและคุณภาพของเมนูคาวหวานจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ก. พานิช จึงเป็นหนึ่งในร้านสตรีทฟู้ดแถวหน้าที่สานสายสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างแน่นแฟ้นและส่งต่อชื่อเสียงจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่ 2 ซึ่งเป็นรุ่นของคุณป้าพาณี ที่เล่าว่าคุณแม่เปิดใจประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับลูกสะใภ้อย่างคุณป้าพาณีซึ่งลาออกจากอาชีพครูมาเรียนรู้ทุกกระบวนการตั้งแต่ใต้เตาจนไปถึงการจัดการหน้าบ้านตามแบบแผนของ ก. พานิช อย่างตั้งใจโดยใช้ระยะเวลาฝึกฝนอยู่ 2 ปีจนจบหลักสูตรภาคปฏิบัติ เพราะอยากรักษาชื่อเสียงที่สั่งสมมาให้ดีที่สุด แม้ว่าจะมีรอยต่อในช่วงแรกแต่ก็เป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญหน้าเพื่อพิสูจน์ความมุ่งมั่น โดยใช้วิธีการรักษาและพัฒนา
คุณป้าขยายความว่า การรักษา คือ การประเมินความนิยมของเมนูและปรับให้เหมาะสมกับกำลังการผลิตที่มีรายละเอียดและความพิถีพิถันเพื่อรักษาคุณภาพของรสชาติที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้ดีที่สุด ทำให้เลือกที่จะชูโรงตัวข้าวเหนียวมูนและขนมไทยบางชนิดที่ลูกค้าชื่นชอบ ซึ่งกว่าจะเป็นข้าวเหนียวมูนเลื่องชื่อมาจนทุกวันนี้เรียกได้เลยว่าผ่านการลองผิดลองถูกมานานจนรู้แจ้งในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบหลักอย่างข้าวเหนียว เลือกใช้ข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู จากนาข้าวเหนียวโดยเฉพาะ ในอำเภอแม่จันทร์ จังหวัดเชียงราย น้ำตาล เกลือ กะทิ ก็ต้องเลือกมาอย่างพิถีพิถันจากผู้ผลิตโดยตรง ราคาอาจสูง แต่ยอมจ่ายเพราะต้องการได้ของดี ก่อนจะนำมามูนให้ได้คุณภาพกันวันต่อวันด้วยวิธีการดั้งเดิม ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ความใส่ใจ และดูแลความสะอาด จนได้ข้าวเหนียวมูนที่เป็นเม็ด ไม่บาน รสชาติกลมกล่อม โดยคุณป้ารับหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิดมาตลอด 50 ปี ส่วนการพัฒนานั้นเป็นการนำระบบ การดีไซน์โลโก้และบรรจุภัณฑ์ และนวัตกรรมเครื่องจักรเสริมเข้ามาใช้เพื่อช่วยทุ่นแรงของทีมงาน และทำให้ผลิตได้เร็วขึ้น โดยยังคงมาตรฐานเอาไว้ ซึ่งตรงนี้ได้หลานชายที่จบวิศวกรรมมาช่วยออกแบบเครื่องจักรให้ จะเห็นว่าแนวทางการพัฒนาที่มานำรวมกับการรักษา สามารถสร้างสมดุลที่ทำให้ ก.พานิช ยั่งยืนด้วยคุณค่าของผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริง
ด้านที่มาของมะม่วงคุณป้าเล่าต่อไปว่าเมื่อก่อนที่ร้านขายมะม่วงด้วย ลูกค้าที่มาก็ซื้อไปทานคู่กัน โดยไปคัดมะม่วงทั้งจากตลาดบางแค มหานาค ปากคลอง วัดกัลยาฯ ฯลฯ ทุกเช้ามืด กระทั่งเกิดอุบัติเหตุจากการไปคัดมะม่วงตอนท้องแก่ใกล้คลอดลูกสาวคนที่สอง ทำให้ตัดสินใจขายข้าวเหนียวมูนเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยความที่สมัยก่อนแม่ค้าหาบเร่ผลไม้ที่อยู่ในละแวกนี้ก็จะแวะเวียนมาขายผลไม้ โดยเฉพาะมะม่วง คุณป้าเลยอนุญาตให้นั่งขายประจำบริเวณหน้าร้านได้ และหากลูกค้าต้องการชุดข้าวเหนียวมะม่วง เราก็สามารถคัดมะม่วงมาจัดแพ็คให้ลูกค้าได้เช่นเดียวกัน ผู้คนที่ผ่านไปมาหน้า ก. พานิช จึงชินตากับภาพของแผงมะม่วงสีเหลืองทองหลากหลายพันธุ์ทั้งน้ำดอกไม้ อกร่อง ทองดำ โชคอนันต์ วางสลับสับเปลี่ยนกันอยู่หน้าทางเข้าร้านตลอด 365 วัน เป็นวิถีแห่งการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมานานนับ 40 ปี
ชีวิตประจำวันของเจ้าของร้านวัย 74 ท่านนี้ยังคงเต็มไปด้วยความสุขที่ได้ขับเคลื่อนให้ร้านนี้เป็นที่รักของลูกค้าอยู่เสมอ คุณป้าบอกว่า ก. พานิช ไม่มีสาขา ไม่รับจ้างผลิต และไม่ทำแฟรนไซส์ แม้ว่าจะมีคนมาติดต่อเป็นจำนวนมากก็ตาม เพราะกลัวเสียชื่อ เมื่อเลือกที่จะรักษาชื่อเสียงเป็นหัวใจ ความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและลูกค้าจึงเป็นกลยุทธ์หลักในการบริหารร้าน ฉะนั้นทุกครั้งที่ลูกค้ามาซื้อข้าวเหนียวมะม่วงจากเรา นอกจากความอร่อยที่ได้รับแล้ว ยังมีการแนะนำ อธิบาย ถึงลักษณะข้าวเหนียวและมะม่วงในแต่ละล็อตเพื่อให้เหมาะสมตรงตามความชอบของลูกค้า นับเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้ ก. พานิช มัดใจลูกค้าได้อย่างเหนียวแน่น อีกทั้งสื่อทั่วโลกหลายสำนักยังพร้อมใจกันมอบรางวัลการันตีความอร่อยให้เป็นกำลังใจอีกด้วย
และเมื่อถามถึงมุมมองที่ได้เฝ้าดูการเปลี่ยนผ่านของวงการอาหารที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งถูกยกให้เป็นหนึ่งในเมนูสตรีทฟู้ดห้ามพลาดของเมืองไทย ก็ได้รับคำตอบว่า คู่แข่งเยอะมาก และล้วนมีแนวทางการโปรโมตร้านเพื่อดึงดูดลูกค้าที่ต่างกันออกไป โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมารสชาติของข้าวเหนียวมะม่วง ไม่เพียงถูกปากคนไทยเท่านั้นแต่ยังได้รับความนิยมจากสื่อจากนานาประเทศอีกด้วย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักและชื่นชอบข้าวเหนียวมะม่วงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากชาวยุโรปอย่างเยอรมัน ก่อนจะขยายวงกว้างมาไปคือนักท่องเที่ยวแถบเอเชีย โดยเฉพาะ ลูกค้าชาวจีน ยิ่งช่วงเดือนท่องเที่ยวช่วงหน้าร้อนและปลายปีจะเห็นได้เลยว่าลูกค้าต่างชาติลูกค้าต่างชาติจะตบเท้ามากันคึกคักจนแน่นร้านทุกวัน
ก่อนจากกันคุณป้าพาณีปิดท้ายว่า ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นหนึ่งในเมนูคลาสสิกประจำชาติที่มีชีวิตชีวาไปอีกนาน แต่สำหรับ ก. พานิช ก็ยังดำเนินพันธกิจในการรังสรรค์ข้าวเหนียวมะม่วงตำรับดั้งเดิมเพื่อสร้างความสุขให้กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ส่วนแนวทางการสานต่อจากรุ่นที่ 3 นั้นยังคงเป็นความคาดหวังที่ไม่ชัดเจน และต้องติดตามบทสรุปกันต่อไป.
ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจอาหาร ที่นำเสนอเรื่องราวของธุรกิจ ตลอดจนมุมมองธุรกิจจากเชฟและเจ้าของธุรกิจที่น่าสนใจ